โคคา-โคลา, เนสท์เล่ และเป๊ปซี่โค ผู้ก่อมลพิษขยะพลาสติกระดับโลก

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม .
20 Oct 2020          31400 Views



บริษัท โคคา-โคลา เนสท์เล่ และเป๊ปซี่โคได้รับการจัดอันดับเป็นผู้ก่อมลพิษขยะพลาสติกมากที่สุดสามอันดับแรกของโลกจากรายงาน Brand Audit ประจำปีที่จัดทำโดย Break Free From Plastic องค์กรเอ็นจีโอซึ่งมีสมาชิกกว่า ๘,๐๐๐ แห่งทั่วโลกในการร่วมกันเคลื่อนไหวให้ลดการใช้พลาสติก และแก้ปัญหาวิกฤตมลพิษขยะพลาสติก เป๊ปซี่โค เริ่มทดลองใช้พลาสติกรีไซเคิลในปี ค.ศ. ๑๙๙๐ โดยเปิดตัวขวดพลาสติกแบบใหม่ที่มีวัตถุดิบเป็นพลาสติกรีไซเคิลร้อยละ ๒๕ แต่บริษัทยอมแพ้ และล้มเลิกการใช้พลาสติกรีไซเคิลในตอนท้ายของทศวรรษที่ผ่านมา ในช่วงเวลาเดียวกัน โคคา – โคลา คู่แข่งรายใหญ่ที่สุดของ เป๊ปซี่โค ก็ได้เปิดตัวขวดพลาสติกใหม่ที่ใฃ้พลาสติกรีไซเคิลร้อยละ ๒๕ เฃ่นกัน แต่ก็เลิกใช้อย่างรวดเร็วในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ เนื่องจากมีต้นทุนสูง


ในส่วนของเนสท์เล่ เจ้าของแบรนด์ต่างๆ เช่น Nescafé และ Pure Life ได้ตั้งเป้าหมายในปี ค.ศ. ๒๐๐๘ ในการผลิตขวดน้ำจากพลาสติกรีไซเคิลร้อยละ ๖๐ ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาภายในหนึ่งทศวรรษ แต่เนสท์เล่ไม่เคยบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวเลย เนสท์เล่ยอมรับว่าเป็นเป้าหมายที่มีความทะเยอทะยานมากเกินไป ประกอบกับไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมหรือผู้กำหนดนโยบาย เนสท์เล่ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการหาพลาสติกจากแหล่งรีไซเคิลเป็นเรื่องยาก และบ่อยครั้งยังมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับวัสดุรีไซเคิลอีกด้วย

ปัจจุบัน ทั้งสามบริษัท โคคา-โคลา เนสท์เล่ และเป๊ปซี่โคต่างก็ให้คำมั่นสัญญาใหม่ โดยในปี ค.ศ. ๒๐๑๘ กำหนดเป้าหมายการลดการใฃ้พลาสติก ดังนี้


– โคคา-โคลา กำหนดเป้าหมายใหม่ในการใช้พลาสติกรีไซเคิลที่ร้อยละ ๕๐ สำหรับบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดภายในปีค.ศ. ๒๐๓๐ ปัจจุบันมีการใฃ้พลาสติกรีไซเคิลอยู่ที่ร้อยละ ๒๐ และประมาณครึ่งหนึ่งเป็นการใช้พลาสติกโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET)


– เป๊ปซี่โค จะใช้พลาสติกรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์ที่อัตราร้อยละ ๒๕ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๕ โดย ณ เดือน ก.ย. ๒๐๑๙ อยู่ที่ร้อยละ ๔


– เนสท์เล่ ให้คำมั่นว่าจะใช้พลาสติกรีไซเคิลในบรรจุภัณฑ์อย่างน้อยที่ร้อยละ ๑๕ ภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๕ โดยอัตราการใฃ้พลาสติกรีไซเคิลของบริษัทในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ ๓ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๒ ณ วันที่ให้คำมั่นในปีค.ศ. ๒๐๑๘


แม้ว่าการกำหนดเป้าหมาย และการให้คำมั่นสัญญาในการลดการใฃ้พลาสติกของบริษัทต่างๆ อาจฟังดูน่าประทับใจ อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญคือ การตรวจสอบตัวเลขว่าสามารถทำได้จริงมากน้อยแค่ไหน ใกล้เคียงหรือเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ จากข้อมูล Arabesque S-Ray ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินความยั่งยืนของบริษัททั่วโลก พบว่า เนสท์เล่ มี ESG Score สูงสุดที่ ๖๐.๘๘ คะแนน ตามด้วยเป๊ปซี่โคที่ ๕๓.๓๕ คะแนน ขณะที่โคคา-โคลา รั้งตำแหน่งสุดท้ายด้วยคะแนน ๕๑.๘๙ จากคะแนนเต็มที่ ๑๐๐ คะแนน (ข้อมูลคะแนน ณ วันที่ ๘ ต.ค. ๒๕๖๓)


ทั้งนี้ ไม่น่าแปลกใจเลยที่เนสท์เล่จะมีคะแนนความยั่งยืน ESG Score สูงกว่าเป๊ปซี่โค และโคคา-โคลา เนื่องจากเนสท์เล่มีความหลากหลายของธุรกิจมากที่สุด จึงได้รับประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจนั่นเอง เราคงต้องมาจับตาดูกันต่อว่าทั้งสามบริษัทจะสามารถบรรลุเป้าหมายในครั้งนี้ได้หรือไม่


เรายังพบข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมว่า ทั้งสามบริษัทดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับหลักการของกรอบความร่วมมือการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (United Nation Global Compact: UNGC) ซึ่งเป็นเครือข่ายการพัฒนาความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยประกอบด้วยหลักการที่สำคัญทั้ง ๔ ประการ ได้แก่ สิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริต จากข้อมูล Arabesque S-Ray ณ วันที่ ๘ ต.ค. ๒๕๖๓ โคคา-โคลา มี UNGC Score อยู่ที่ ๖๑.๔๓ คะแนน เทียบกับเนสท์เล่ ๕๙.๑๘ คะแนน และเป๊ปซี่โค ๕๗.๔๘ คะแนน (ข้อมูลคะแนน ณ วันที่ ๘ ต.ค. ๒๕๖๓) UNGC Score นี้เป็นตัววัดความเสี่ยงด้านชื่อเสียงที่ของบริษัทตามหลักการของ UNGC ต่างจาก ESG Score ที่ใฃ้หลักการความมีสาระสำคัญทางกการเงิน หรือที่เรียกว่า Financial Materiality โดยบริษัทที่อยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่าในการสร้างผลตอบแทนทางการเงินในระยะยาวก็จะมีคะแนนมากกว่า จะเห็นว่าการประเมินความยั่งยืนขึ้นอยู่กับมุมมอง และโฟกัสที่ผู้ใฃ้งานต้องการ ความยั่งยืนไม่ได้มีเพียงคำจำกัดความเดียว หรืออีกนัยหนึ่ง ไม่มีคำจำกัดความของความยั่งยืนใดที่จะประยุกต์ใช้ได้กับทุกกรณี เราจะเห็นได้ชัดว่า การที่บริษัททั่วโลกไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการใช้พลาสติก ทั้งจากการการลงทุนที่ไม่เพียงพอ และอัตราการรีไซเคิลพลาสติกโพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลตหรือ PET ที่ต่ำนั้น จะไม่ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตขยะพลาสติก และอันตรายจากขวดน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง บริษัททั้งหลายจะต้องออกแบบระบบการจัดส่งใหม่ในการขายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของตน โดยไม่จำเป็นต้องใช้บรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการทำลายห่วงการสร้างมลพิษจากขยะพลาสติกนี้


แหล่งที่มา : https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9630000106734

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ หากคุณยังคงใช้ไซต์นี้ต่อไปหมายความว่าคุณยอมรับข้อกำหนดและเงื่อนไขและนโยบายความเป็นส่วนตัว.

ยอมรับ รายละเอียด